วัดพระเจ้าพรหมมหาราช
วัดป่าไม้แดง
วัดป่าไม้แดง

วัดพระเจ้าพรหมมหาราช หรือ วัดป่าไม้แดง ตั้งอยู่ในตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของคนในชุมชน ทั้งอุโบสถและเจดีย์มีความวิจิตรงดงามตามแบบศิลปะล้านนา และยังเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช อีกด้วย

พระราชประวัติพระเจ้าพรหมมหาราช

       ในรัชสมัยของพระเจ้าพรหมมหาราชทรงครองราชย์อยู่ ณ เมืองไชยปราการนั้น บ้านเมืองในแว่นแคว้นโยนกเจริญรุ่งเรืองเต็มไปด้วยความวัฒนาผาสุก พระเกียรติยศของพระองค์รุ่งเรืองปรากฏไปทั่วทุกทิศ เหล่าปัจจามิตรก็มิอาจหล้ามาราวีด้วยเกรงในพระบรมเดชานุภาพและบุญญาธิการของพระองค์ ดูเหมือนพระองค์จะทรงถือกำเนิดมาเพื่อปราบยุคเข็ญในยามที่บ้านเมืองกำลังตกอยู่ในมือของคนต่างชาติ

       พระองค์ทรงถือกำเนิดมาเพื่อกอบกู้อิสรภาพของชาติไทยโดยแท้ เพราะในสมัยที่พระองค์ทรงถือกำเนิดมานั้น คือในปี พ.ศ. 1461 พระเจ้าพังคราชพระราชบิดาและพระมเหสีผู้เป็นมารดาของพระองค์ต้องถูกพวกขอมเนรเทศให้ออกจากอาณาจักรโยนกไปอยู่เมืองเล็กเมืองหนึ่ง เมืองนี้มีชื่อว่า “เวียงสีทวง” (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) ใกล้ ๆ ชายแดนพม่าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านปางห่าประมาณ 6 กิโลเมตร มีชื่อใหม่ว่า “บ้านเวียงแก้ว” แต่เดิมเรียกว่า “สี่ตวง” เป็นเมืองออกของไทย ปกครองโดยพวกลัวะ พอถึงปีที่ต้องนำทองคำสี่ตวงลูกมะตูมมาส่งให้เป็นบรรณาการ นานเข้าเรียกเพี้ยนเป็นเวียง “สี่ตวง”

      เมื่ออยู่เวียงสี่ตวงได้ 1 ปี ก็ได้พระราชโอรสองค์แรกจะเป็นด้วยกำลังอยู่ในระหว่างตกทุกข์ได้ยาก จึงได้ตั้งพระนามพระโอรสว่า “ทุกขิตราชกุมาร” แต่ทุกขิตราชกุมารนี้ไม่ทรงสมบูรณ์ คือมีพระกำลังอ่อนแอ พระกายก็เกือบทุพพลภาพไม่แข็งแรง ครั้นอยู่ต่อมาอีกสองปี จึงได้พระราชโอรสองค์ที่สองนี้ เมื่อประสูติออกมานั้นมีพระวรกายงดงามทรงตั้งพระนามว่า “พรหมราชกุมาร” เพราะมีวรรณะผุดผ่องงดงามประหนึ่งพรหมพระองค์ประสูติในวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 6 เหนือ (คือเดือน 4 ใต้) ปีมะเส็ง พ.ศ. 1461 เหตุอัศจรรย์ คือ

      ขณะที่พระมเหสีทรงครรภ์ราชโอรสองค์นี้ได้ 7 เดือน ได้กราบทูลพระสวามีว่า ขอให้นำเอาศาตราวุธมาให้ดูว่ามีอะไรบ้าง ที่ใช้ในราชการสงคราม พระสวามีก็แสวงหามาตกแต่งไว้ในห้องให้พระมเหสีทอดพระเนตรทุกวัน ในที่สุดก็ประสูติพระราชโอรสในตำนานโยนกได้ กล่าวถึงอิทธิปาฏิหาริย์อันเกิดจากบุญญาบารมีของพระองค์ว่า เมื่อพระชนม์ได้ 7 พรรษาก็ทรงมีน้ำพระทัยองอาจกล้าหาญชอบเรียนวิชาเพลงอาวุธและตำรับยุทธวิธีสงคราม เมื่อพระราชกุมารทรงพระเจริญวัยขึ้นมีพระชนม์ 13 พรรษา 

      คืนหนึ่งทรงพระสุบินว่ามีเทวดามาบอกพระองค์ว่า ถ้าอยากได้ช้างเผือกคู่พระบารมีสำหรับทำศึกสงครามแล้วไซร้ วันพรุ่งนี้ตอนเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นให้ออกไปที่ฝั่งแม่น้ำโขง แล้วคอยดูจะมีช้างเผือกล่องน้ำมาตามแม่น้ำโขง 3 ตัวด้วยกัน ถ้าจับได้ตัวใดตัวหนึ่งก็จะใช้เป็นพาหนะทำศึกสงคราม ถ้าจับได้ตัวที่หนึ่งจะปราบได้ทั้งสี่ทวีป ถ้าจับได้ตัวที่สองจะปราบได้ทั่วชมพูทวีป ถ้าจับได้ตัวที่สามจะดินแดนแคว้นลานนาไทยได้ทั้งหมด สิ้นสุบินนิมิตรแล้ว เจ้าพรหมราชกุมารตื่นจากบรรทม ไม่ทันสรงพระพักตร์ไปเรียกมหาดเล็กของท่าน ซึ่งเป็นลูกทหารแม่ทัพนายกองจำนวน 50 คน ให้ไปตัดไม้รวกเป็นขอตามคำเทวดาบอก ให้ใช้ขอไม้รวกและเกาะคอช้างจะได้ลากขึ้นฝั่ง แล้วพากันไปที่ฝั่งแม่น้ำโขง ไปล้างหน้าล้างตา ยังไม่เสวยอาหารเลย ล้างหน้าล้างตาเสร็จแล้วก็คอยดู พอได้สักครู่ใหญ่ ๆ ท้องฟ้าก็สว่าง ในขณะนั้นมีงูใหญ่ตัวหนึ่งสีเหลืองเลื่อมเป็นมันระยับตัวใหญ่โตประมาณ 3 อ้อม ยาว 10 กว่าวา ลอยมาตามแม่น้ำโขง เข้ามาใกล้ฝั่งที่พระองค์และมหาดเล็กอยู่นั้น เจ้าพรหมราชกุมารและมหาดเล็กเห็นเข้าก็ตกใจกลัวจนตัวสั่นหน้าซีด มิอาจเข้าไปใกล้ได้ เจ้างูนั้นก็เลยล่องผ่านไป พออีกสักครู่ใหญ่ๆ ก็มีงูลอยมาอีกตัวเล็กกว่าเก่า ขนาดก็สั้นกว่าตัวเก่านิดหน่อยเป็นงูอย่างเดียวกันก็ลอยล่องไปอีก เจ้าพรหมไม่กล้าทำอะไรพอตัวที่สองนี้ผ่านไปได้ครู่ใหญ่ ๆ ก็นึกว่าเทวดาบอกว่าจะมีช้างเผือกลอยมา 3 ตัว ไม่เห็นช้างเผือกลอยมาสักตัวเห็นแต่งูลอยมาสองตัวแล้ว ถ้าหากว่ามีอีกตัวหนึ่งต้องเป็นช้างเผือกแน่ ตัวที่สามนี้อย่างไรก็ต้องเอาละเพราะเป็นตัวสุดท้ายแล้ว พอเจ้างูตัวที่ 3 ลอยมา เจ้าพรหมก็ลงน้ำและบุกน้ำลงไป ไปถึงก็เอาไม้รวกเกาะคองูนั้น พอขอไม้รวกเกาะคองู งูก็แปรสภาพเป็นช้างเผือกทันที รูปร่างอ้วนพีงามดียิ่งนัก มหาดเล็ก 50 คน ก็ช่วยกันเอาขอไม้รวกเกาะคอช้างจะเอาขึ้นฝั่งทำอย่างไรมันก็ไม่ยอมขึ้นฝั่ง เดินไปเดินมา อยู่ในน้ำนั่นเอง เจ้าพรหมราชกุมาร ก็ใช้ให้มหาดเล็กไปกราบทูลพระราชบิดาว่าได้ช้างเผือกแล้ว แต่ไม่ยอมขึ้นฝั่ง 

      เมื่อพระเจ้าพังคราชทรงทราบเช่นนั้นก็เรียกโหรหลวงมาถาม โหรหลวงก็ทูลว่า ให้เอาทองคำประมาณยี่สิบตำลึงมาตีพางอันหนึ่ง (พางคือระฆังหรือกระดิ่งผูกคอช้าง) แล้วบอกว่าให้พระราชโอรสองค์ใหญ่เอาพางไปที่ฝั่งแม่น้ำ และเอาไม้ตีพางเข้าพอพางดังช้างจะขึ้นฝั่งเอง พระเจ้าพังคราชก็มีรับสั่งให้ทำพางขึ้นและนำไปที่ฝั่งแม่น้ำโขง และไม้เคาะที่พางก็มีเสียงดังเหมือนระฆัง ช้างก็ขึ้นมาจากฝั่ง เจ้าพรหมกุมารก็นำช้างเข้าเมือง พระราชบิดาก็สร้างโรงช้างเผือกเข้าเลี้ยงบำรุงไว้ที่นั่น ช้างก็เลยได้ชื่อว่า “ช้างเผือกพางคำ” แล้วเจ้าพรหมกุมารก็ได้โปรดให้สร้างเมืองขึ้นที่นั่น โดยขุดคูเอาน้ำจากแม่น้ำสายมาเป็นคูเมืองและให้ชื่อว่า “เมืองพานคำ” (ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายตรงที่สำนักงานไร่ยาสูบ อ.แม่สายในปัจจุบันนี้) และทรงใช้เวียงพานคำนี้เป็นแหล่งชุมนุมไพร่พล เพราะเวียงพานคำมีอาณาเขตเป็นที่ราบกว้างอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารเหมาะแก่การประชุมพล 

       นับแต่นั้นมา พระองค์ก็ฝึกซ้อมทหารให้ชำนาญในยุทธวิธี และสะสมเครื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้มากมาย ทรงทราบว่าบ้านเมืองของพระองค์ถูกพวกขอมย่ำยีจนต้องตกเป็นประเทศราช พระบิดาต้องส่งส่วยให้ขอมทุกปี ก็ทรงพระดำริที่จะกอบกู้เอกราช โดยประกาศแข็งเมืองไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่กษัตริย์ขอมดำ การสงครามระหว่างไทยกับขอมดำก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ปรากฏว่า คราวนี้ขอมพ่ายแพ้แก่กองทัพไทย ตีหัวเมืองที่อยู่ในอำนาจของขอมกลับคืนหมด จากนั้นพระเจ้าพรหมราชกุมารก็ทรงดำริต่อไปว่า หากปล่อยให้ขอมดำมีถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่อาณาเขตติดต่อกันเช่นนี้ ไม่ช้าสงครามก็จะเกิดขึ้นอีก และถ้าเผลอก็จะตกเป็นทาสของขอมอีก 

      พระองค์จึงทรงประกาศอิสรภาพของชาติไทย ในปี พ.ศ. 1497 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่อาณาจักรโยนกหรือโยนกนาคพันธ์ ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของขอมมาเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งเมื่อพระองค์แข็งเมืองขึ้นนั้นก็เป็นเหตุให้พวกขอมยกทัพใหญ่มาเพื่อจะทำการปราบปราม แต่พระองค์ก็หาได้เกรงกลัวแสนยานุภาพของขอมไม่ ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 16 พรรษาเท่านั้น แต่ด้วยความรักชาติบ้านเมือง รักในความเป็นอิสรเสรี และด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าของพระองค์ในที่จะปลดแยกอาณาจักรโยนกออกจากการปกครองของพวกขอม พระองค์จึงยกกองทัพใหญ่ไล่จับพวกขอมที่เป็นชายฆ่าเสียเกือบหมด พวกที่รอดตายไปได้ คือพวกที่มาทาใต้ 

      พระเจ้าพรหมฯ ตั้งพระทัยที่จะทำลายพวกขอมให้หมดสิ้น เป็นการขับไล่ชนิดที่เรียกว่า “กวาดล้าง” เลยทีเดียว เพราะพวกขอมมีหลายหัวเมืองด้วยกัน เช่น เมืองหริภุญชัย เมืองสุโขทัย เมืองละโว้ เมืองศรีสัชชนาลัย เมื่อขับไล่มาถึงเมืองศรีสัชชนาลัยแล้วกษัตริย์ขอมดำที่เป็นเจ้าเมืองศรีสัชชนาลัยไม่กล้าสู้ ยอมแพ้และยอมถวายพระราชธิดาองค์หนึ่ง ด้วยการรบอย่างรุนแรง เพื่อจะขจัดอิทธิพลของพวกขอมนั่นเอง ในตำนานโยนกจึงได้กล่าวถึงปาฏิหาริย์ที่จะยับยั้งมิให้พระองค์ทำการรุกไล่พวกขอมต่อไปว่า ร้อนถึงพระอินทร์เจ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เล็งทิพย์เนตรมาเห็น ถ้าไม่ไปช่วยไว้ ขอมจะต้องตายหมด ชีวิตมนุษย์ก็จะเป็นอันตรายมากจำต้องช่วยป้องกันไว้ 

       จึงมีเทวองค์การสั่งให้พระวิศณุกรรมเทพบุตรลงไปเนรมิตรกำแพงแก้ว ก็หยุดเพียงแค่นั้น ไม่ได้ไล่ตามต่อไป ที่ตั้งกำแพงแก้วนี้ ต่อมาเกิดมีเมืองขึ้นเมืองหนึ่งมีชื่อว่า “เมืองวชิรปราการ” แปลตามพยัญชนะว่า “กำแพงเพชร” คือจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบันนี้ ข้อความในตำนานนี้พอจะสันนิษฐานได้ว่าเมื่อพระเจ้าพรหมลุกไล่พวกขอมลงไปทางใต้เป็นระยะทางไกลพอสมควรแล้ว ทรงเห็นว่าพวกขอมที่แตกพ่ายไปอย่างไม่เป็นกระบวนนั้น คงไม่สามารถที่จะรวมกำลังยกกองทัพมารวบกวนได้อีก และประกอบกับบรรดาไพร่พลของพระองค์อิดโรยอ่อนกำลัง เพราะทำการสู้รบติดพันกันเป็นเวลานานถึง 1 ปีเศษ ได้อาณาเขตกว้างขวางมากอยู่พอแล้ว มีพระราชประสงค์จะหยุดพักไพร่พลเสียบ้างจึงได้ยกกองทัพกลับมายังบ้านเมือง 

        คืออาณาจักรโยนกนคร ครั้นพระเจ้าพรหมเสด็จมาถึงโยนกนครแล้วก็ทรงอัญเชิญให้พระเจ้าพังคราชพระราชบิดาเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติในนครโยนกตามเดิมและให้เจ้าทุขิตราชกุมารพระเชษฐาเป็นมหาอุปราช แต่ทรงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เมืองชัยบุรี” บางทีเรียกว่า “ชัยบุรีเชียงแสน” หรือไม่ก็เรียกว่า “เมืองเชียงแสนชัยบุรี” เพราะว่าที่ตีมานี้ได้ชัยชนะ นอกจากนั้นพระเจ้าพรหมฯ กับพระราชบิดายังช่วยกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นแห่งหนึ่งในราชอาณาจักร พระเจดีย์ที่ทรงสร้างขึ้นในประวัติศาสตร์เรียกว่า “เจดีย์จอมกิตติ” (เดี๋ยวนี้เรียกว่าพระธาตุจอมกิตติ เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่บนเขาสูงบนฝั่งน้ำแม่โขง ห่างจากที่ว่าการอำเภอเชียงแสนปัจจุบันไปทางซ้ายมือประมาณ 1 ก.ม. เป็นปูชนียสถานที่สำคัญเป็นที่กราบไหว้ของคนทั่วไป) หลังจากที่พระเจ้าพรหมมหาราชทรงอัญเชิญให้พระราชบิดาคือพระเจ้าพังคราชเสด็จครองเมืองชัยบุรีเชียงแสนแล้ว 

        พระองค์จึงเสด็จหาที่ตั้งราชธานีใหม่ ในที่สุดก็เสด็จมาถึงบริเวณแม่น้ำฝาง เห็นเป็นที่ทำเลเหมาะดี ก็ทรงสร้างนครขึ้นที่นั่น เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงขนานนามเมืองว่า “เมืองไชยปราการ” แล้วพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปี พ.ศ. 1480 เมืองนั้นอยู่ห่างจากเมืองชัยบุรีเชียงแสน ระยะทางประมาณ 300 ก.ม. (คือเชียงแสนกับฝางปัจจุบันนี้) เมืองไชยปราการที่กล่าวถึงนี้โปรเฟสเซ่อรแคมแมน นักสำรวจโบราณวัตถุแห่งมหาวิทยาลัยมลรัฐเพ็นซิลวาเนีย อเมริกา ให้ข้อสันนิษฐานว่า เมืองไชยปราการที่พระเจ้าพรหมมหาราชทรงสร้างขึ้นนั้นมิใช่ตัวเมืองฝางปัจจุบันนี้ แต่เป็นเวียงริมน้ำฝางทางทิศตะวันออก อยู่ในท้องที่ตำบลแม่งอน ทางทิศใต้ของอำเภอฝาง มีระยะทาง 32 ก.ม. ยังปรากฏรากกำแพงเมือง ซุ้มประตู และซากพระราชฐาน พระราชวังอยู่โดยชัดแจ้ง ส่วนตัวเมืองฝางนั้นเป็นเมืองที่สร้างขึ้นในภายหลัง ในรัชสมัยพระเจ้าพรหมมหาราชเสด็จมาครองราชสมบัติ ณ เมืองไชยปราการนั้น แว่นแคว้นโยนก แบ่งออกเป็น 4 มหานคร คือ

  1. ไชยบุรีเชียงแสน เป็นราชธานี ภายหลังได้จมลงสู่พื้นธรณีในสมัยพระเจ้าไชยมหาชนะ หรือพระเจ้ามหาไชยชนะครองราชสมบัติอยู่ ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ท่าข้าวเปลือก ไกลจากที่ว่าการอำเภอเชียงแสนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทาง 112 ก.ม.
  2. เวียงไชยนารายณ์ คือท้องที่อำเภอเมืองเชียงรายในปัจจุบันนี้
  3. เวียงไชยปราการ อยู่ที่อำเภอฝางมาทางทิศใต้ระยะทางประมาณ 32 ก.ม.
  4. เวียงพางคำ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาย ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบันนี้

ในครั้งนั้น แว่นแคว้นโยนกนับว่ามีกำลังแข็งแรงมาก จนเป็นที่เกรงขามแก่หริราชศัตรู พระเจ้าพรหมมหาราช ได้ทรงวางกำลังป้องกันพวกขอมไว้อย่างแข็งแรง จนพวกขอมไม่กล้ายกกองทัพมารบกวนอีกตลอดรัชสมัยของพระองค์ พระเจ้าพรหมมหาราช มีราชโอรสองค์เดียว คือพระเจ้าสิริไชยหรือไชยสิริ พระองค์ทรงปกครองราชบัลลังค์ได้ 60 ปี เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1538 เมื่อพระชนมายุ 77 ชัญษา เมื่อพระเจ้าพรหมมหาราชเสด็จสวรรคตแล้วมุขมนตรีก็อัญเชิญพระเจ้าสิริไชยราชโอรสขึ้นครองราชย์ปกครองบ้านเมืองเป็นกษัตริย์นครไชยปราการ อันดับที่ 2 สืบแทนต่อมา

 ข้อมูลจาก: เทศบาลตำบลไชยปราการ

Comments are closed