ความเป็นมา
ด้วยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2532 กำหนดให้ปี พ.ศ. 2532-2535 เป็นปีแห่งการป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ต่อมารัฐบาลมีนโยบายที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรของชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ในลักษณะของอุทยานแห่งชาติ ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้จัดเจ้าหน้าที่มาสำรวจ และจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ท้องที่ตำบลศรีดงเย็น ตำบลแม่ทะลบ อำเภอไชยปราการตำบลแม่ข่า ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย ท้องที่ตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้อย ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา” ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2537
มีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 356.7778 ตารางกิโลเมตรหรือ 222,986 ไร่
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขา สลับซับซ้อนเทือกเขาวางตัวในแนวทิศเหนือ – ใต้ เป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดเชียงใหม่ –เชียงราย มียอดดอยสูงสุดคือ ดอยเวียงผา มีความสูง 1,834 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธาร และแหล่งกำเนิดของลำห้วย ใหญ่ ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำฝางและเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำลาว
สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา โดยทั่วไปประกอบด้วย 3 ฤดู ได้แก่
- ฤดูฝน ระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม โดยจะมีฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน
- ฤดูหนาว ระว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงอากาศหนาวเย็น เหมาะสำหรับเดินทางมาท่องเที่ยว
- ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งจะเป็นช่วงอากาศค่อนข้างร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 11.8 องศาเซลเซียส และสูงสุด 36.3 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ซึ่งป่าแต่ละชนิดเหล่านี้จะอยู่กระจัดกระจายทั่วไป ในเขตอุทยานฯ ตามระดับความสูงของพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ประดู่ ไม้ตะแบก ไม้เต็ง ไม้รัง จำปีป่า สนสามใบ ก่อชนิดต่าง ๆ มอส เฟิร์น กล้วยไม้ นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญและหายากของเมืองไทย อาทิเช่น มณฑาดอย กุหลาบพันปี กายอม กุหลาบขาว และกล้วยไม้นานาชนิด ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตามบริเวณยอดดอยเวียงผา ด้วยสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทาง ตลอดจนระดับความสูงของพื้นที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 360-1,834 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงทำให้เกิดแหล่งอาหารและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดประกอบด้วย เก้ง หมูป่า เลียงผา เม่น กระต่ายป่า ลิง อีเห็น กระรอก กระแต นกนานาชนิด เช่น กางเขนดง นกเขา เหยี่ยว นกพญาไฟ นกโพระดก นกกินปลี นกหัวขวาน ไก่ป่า ฯลฯ และที่สำคัญยังสามารถพบเห็นตัว สลาแมนเดอร์(จิ้งจกน้ำ) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์
1. กุหลาบพันปี Rhododendron arboreum ssp. Delavayi (Franch.) Chamberlain
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางสูง 4-12 ม. ลำต้นและกิ่งคดงอใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับที่ปลายกิ่ง รูปหอกกว้างแกมขอบขนาน กว้าง 2-3 ซม. ยาว 7-14 ซม. แผ่นใบหนาท้องใบมีขนนุ่มดอกสีแดงสดออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งจำนวน 4-12 ดอก ดอกย่อยรูประฆังปลายแยก 4-6 แฉก ขนาดเมื่อบานเต็มที่กว้าง 3.5-4.5 ซม. ยาว 2.8-3.5 ซม. เกสรผู้ 10 อัน ผลสีน้ำตาล รูปทรงกระบอก กว้าง 0.6-0.7 ซม. ยาว 1.3-1.6 ซม. เมื่อแก่จะแตกตามยาว เมล็ดแบน ขนาดเล็ก มีปีก บางใส จำนวนมาก
เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : จากอินเดีย เนปาล พม่า ถึงจีนตอนใต้ ในประเทศไทยพบตามที่โล่งบริเวณป่าดิบเขาทางภาคเหนือ ที่ระดับความสูง 2,000-2,500 ม. ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม
สถานภาพ : เป็นพันธุ์ไม้ป่าหายากของไทย ที่ให้ความสวยงามสะดุดตา
กุหลาบพันปี Rhododendron arboreum ssp. Delavayi (Franch.) Chamberlain
2.กุหลาบขาว Rhododendron Lyi Ley
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มสูง 2-3 เมตร กิ่งอ่อนมีขนและสีน้ำตาลใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่งรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปรีปลายแหลม มีติ่งโคนสอบด้านหลัง มีเกล็ดสีน้ำตาลดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก โคนเชื่อมกันปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมกันคล้ายรูปแตรปลายแอก เป็นกลีบกลม ขอบเป็นคลื่นด้านนอกมีเกล็ดปกคลุม ทั่วไปด้านในมีจุดประสีเหลือง ผลรูปรีผิวขรุขระเมื่อแก่แตกได้เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็กมีปีกบาง
เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ต่างประเทศพบที่ลาวและเวียดนามขอบขึ้นบนภูเขาหินทรายในที่โล่งแจ้งตามโขดหินที่ระดับน้ำทะเล 1000-1600 เมตรมักขึ้นรวมเป็นกลุ่มใหญ่ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม
สถานภาพ : เป็นพันธุ์ไม้ป่าหายากของไทยที่ให้ความสวยงามสะดุดตา
กุหลาบขาว Rhododendron Lyi Ley
3. กายอม Rhododendron Hook ERICACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มขึ้นบนดินหรืออิงอาศัย สูง 1-3 ม. กิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย กิ่งแก่เกลี้ยงใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับใกล้ ๆ กันเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่งกลุ่มละ 3-7 ใบ รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมรีกว้าง 2-4.2 ซม. ยาว 5-10 ซม. ปลายบ้าน มีติ่งสั้น โดนสอบหรือมนแผ่นใบด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่างด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีเกล็ดสีน้ำตาลทั่วไป แผ่นใบหนา เส้นกลางใบนูนเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ 8-22 เส้นเห็นขัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว 1.5-1.8 ซม. มีขน ช่อดอกคล้ายช่อร่ม ออกที่ปลายยอด ช่อหนึ่งมี 2-8 ดอก ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อนตาดอกรูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ 2 ซมมีเกล็ดปกคลุมก้านดอกยาว 1-1.2 ซม. ในประดับปลายแหลม โคนมีขน กลีบเลี้ยงโคนติดกันเล็กน้อย ยาว 7-8 มม. ด้านนอกมีเกล็ด มีขนบริเวณขอบกลีบ กลีบดอกกว้างยาว 6-7 ซม. มีกลิ่นหอมอ่อน โคนติดกันเป็นรูปกรวยแกมรูประฆังปลายแยกเป็น 5 กลีบบานออกแผ่นกลีบกว้าง 4-4.3 ซมยาว 4-5 ซม. ขอบเป็นคลื่น ด้านนอกมีเกล็ด ที่โคนมีขนนุ่มคล้ายเส้นไหม มีประสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียวแต้มเป็นทางปากหลอดลงไปถึงโคนกลีบดอก เกสรเพศผู้ 10-14 อัน ยาวไม่เท่ากัน กานชูอับเรณูเรียวบางที่โคนมีขนสั้นสีขาว กับเรณูยาว 4-5 มม. รังไข่รูปไข่มี 5 พู มีเกล็ดหนาแน่น ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่ากับความยาวของกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลม จัดเป็นผลรูปทรงกระบอกคล้ายผลสมอกว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2-3 ซม. ผิวหยาบ มีเกล็ดทั่วไป เมื่อแก่แตกเป็น 5 เสียงมีเมล็ดจำนวนมากเมล็ดแบนเล็กมากมีปีกบางใสล้อมรอบ
การกระจายพันธุ์ : พม่าและลาว
การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้
สภาพนิเวศน์ : บนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,400-2,565 ม. ขึ้นในป่าดิบเขาตามคบไม้ใหญ่ตามซอกหินที่มีซากอินทรีย์ละสมหรือตามพื้นดินที่เป็นแอ่งชุ่มแฉะมีข้าวตอกฤาษี (Sphagnum masses)
เวลาออกดอก : ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน
กายอม Rhododendron Hook ERICACEAE
4. เทียนดอย Impatiens violaeflora Hook F. : BALSAMINACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกลำต้นอวบน้ำสูง 20-40 ซม. ในเป็นใบเดี่ยวรูปขอบขนานแกมรีกว้าง 1.5-4 ซม. ยาว 3-7 ซม. โคนใบปลายแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยดอกสีชมพูแกมแดงออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบกลีบรองดอก 5 กลีบ มี 1 กลีบลักษณะยาวเป็นจงอยกลีบดอก 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ผลสีเขียวก้านยาว 4-6 ซม. ผลแก่แตกตามยาวเมล็ดขนาดเล็กดีดไปได้ไกล
เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : จากอินเดียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบตามป่าดิบบริเวณน้ำและที่ชุ่มชื้นที่ระดับความสูง 700-1,500 ม.
เทียนดอย Impatiens violaeflora Hook F. : BALSAMINACEAE
5.กระโถนพระฤๅษี Sapria himmalayana Griff
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : พืชเบียนเกาะอาศัยตามรากของเครือเขาน้ำ (Tetrastigma spp.) ลักษณะเป็นก้อนกลมติดอยู่กับรากไม้ภายในมีการพัฒนาอย่างช้าๆโดยใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะมีดอกดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่มคล้ายเห็ดดอกตูมรูปร่างกลมโตขนาดผลมะนาวเมื่อบานเต็มที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-15 ซม. กลีบดอกอุ้มน้ำติดกันเป็นถ้วยขึ้นมาจากฐานปลายแยกเป็นแฉกประมาณ 10 แฉกสีแดงอมน้ำตาลมีจุดประใหญ่สีเหลืองทั่วไปตรงบริเวณกึ่งกลางถ้วยด้านในมีพังผีตติดอยู่เป็นรูปวงแหวนใต้วงแหวนมีกลุ่มเกสรเพศผู้ประมาณ 20 อันติดอยู่รอบแท่นกลมภายในโคนดอกกาบใหญ่แข็งหุ้มประสานกัน
เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคเหนือของไทยต่างประเทศพบที่อินเดียพม่ากัมพูชาและเวียดนามขึ้นตามป่าดิบชื้นที่ระดับความสูง 600-1500 เมตร
สถานภาพ : พืชหายาก
กระโถนพระฤๅษี Sapria himmalayana Griff
6. อื่นๆ
น้ำตกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา
1.น้ำตกห้วยทรายขาว
ตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา พื้นที่บริเวณตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เป็น น้ำตกขนาดเล็ก มี 3 ชั้น มีน้ำมากเฉพาะฤดูฝน สามารถเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย
2.น้ำตกแม่ฝางหลวง
ตั้งอยู่ป่าทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านชาวลาหู่ บ้านแม่ฝางหลวง ท้องที่หมู่ที่ 10 ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นน้ำตกสวยงาม มี 2 ชั้น สูง 10-15 เมตร มีน้ำไหลตลอดปี สามารถเล่นน้ำได้ตลอดปี
3.น้ำตกดอยเวียงผา
ตั้งอยู่ป่าทางทิศตะวันออกของที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา ท้องที่หมู่ที่ 10 ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นน้ำตกขนาดกลาง สูง 15-20 เมตร มีน้ำไหลตลอดปี การเดินทางค่อนข้างลำบากพอสมควร สามารถพักค้างคืนได้ (กางเต็นท์)